วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

บทนำ

เด็กวัยประถมต้น (6-9 ขวบ) มีพัฒนาการทางด้านสติปัญญาที่ Jean Piaget เรียกว่า Concrete Operation คือ มีความสามารถคิดเหตุผลเชิงตรรกะได้ สามารถรับรู้สิ่งแวดล้อมตามความเป็นจริง สามารถพิจารณาเปรียบเทียบจัดของเป็นกลุ่มโดยใช้เกณฑ์หลายอย่าง เริ่มเข้าใจกฎเกณฑ์ต่างๆ และเข้าใจความคงตัวของสสารว่า การเปลี่ยนแปลงรูปร่างภายนอกไม่มีผลต่อสภาพเดิม ต่อปริมาณ น้ำหนัก และปริมาตร มีความคิดสร้างสรรค์ ชอบคิดแก้ปัญหาตามวิธีการของตัวเอง ชอบแสวงหาวิธีการต่างๆจากการลองปฏิบัติ ซักถาม เปรียบเทียบ และจดจำสิ่งของหรือบุคคลต่างๆได้อย่างถูกต้อง พัฒนาการด้านภาษาและการใช้สัญลักษณ์ในวัยนี้มีพัฒนาการที่ก้าวหน้ามาก สามารถเข้าใจภาษา ความหมายของคำใหม่ๆ อ่านและเขียนได้มากขึ้น สามารถอธิบาย บอกความเหมือน-ความต่างได้ มีความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยนำเอาสิ่งที่มีอยู่มาสัมพันธ์กัน รวมทั้งเข้าใจความหมายของบทเรียน ทั้งคณิตศาสตร์ ภาษา และการอ่าน การส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาที่เหมาะสมจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ และการจัดการเรียนการสอนของครู จะช่วยให้เด็กมีวิธีคิด มีวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสม เกิดทางเลือกและวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ซึ่งจะส่งเสริมพัฒนาการในวัยต่อไปให้ดียิ่งขึ้น

พัฒนาการด้านสติปัญญาวัยประถมต้นสำคัญอย่างไร?

ความแตกต่างระหว่างบุคคลเกี่ยวกับพัฒนาการทางสติปัญญา เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่รอบตัวจำเป็นต้องตระหนักและคำนึงถึงความ สามารถเฉพาะของเด็ก พร้อมทั้งส่งเสริมให้เด็กได้พัฒนาตามศักยภาพของตน ดังนั้น การจะบอกว่าเด็กคนหนึ่งฉลาดหรือมีความสามารถมากน้อยเพียงใด ถ้านำระดับสติปัญญาหรือไอคิวมาเป็นมาตรวัด ก็อาจวัดได้เพียงเรื่องของภาษา ตรรกศาสตร์ คณิตศาสตร์ และมิติสัมพันธ์เพียงบางส่วน ยังมีความสามารถอีกหลายด้านที่แบบทดสอบไม่สามารถวัดได้ เช่น ความ สามารถทางดนตรี ความสามารถทางกีฬา หรือความสามารถทางศิลปะ เป็นต้น
ศาสตราจารย์โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) นักจิตวิทยา มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เป็นผู้ที่พยายามอธิบายให้เห็นถึงความสามารถที่หลากหลาย โดยคิดเป็น “ทฤษฎีพหุปัญญา” (Theory of Multiple Intelligences) เสนอแนวคิดว่า สติปัญญาของมนุษย์มีหลายด้านที่มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะโดดเด่นในด้านไหน แล้วนำแต่ละด้านผสมผสานกัน แสดงออกมาเป็นความสามารถในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละบุคคลไป
ในปี พ.ศ. 2526 การ์ดเนอร์ได้เสนอว่า ปัญญาของมนุษย์มีอยู่อย่างน้อย 7 ด้าน คือ (1) ด้านภาษา (2) ด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ (3) ด้านมิติสัมพันธ์ (4) ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว (5) ด้านดนตรี (6) ด้านมนุษยสัมพันธ์ และ (7) ด้านการเข้าใจตนเอง ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 ได้เพิ่มเติมเข้ามาอีก 1 ด้าน คือ (8) ด้านธรรมชาติวิทยา เพื่อให้สามารถอธิบายความ สามารถที่หลากหลายได้ครอบคลุมมากขึ้น
ทฤษฎีพหุปัญญาของการ์ดเนอร์ชี้ให้เห็นถึงความหลากหลายทางปัญญาของมนุษย์ ซึ่งแต่ละคนมักมีปัญญาด้านใดด้านหนึ่งโดดเด่นกว่าเสมอ ไม่มีใครที่มีปัญญาทุกด้านเท่ากันหมด หรือไม่มีเลยสักด้านเดียว นับเป็นทฤษฎีที่เปิดกระบวนทัศน์ใหม่ในการศึกษาด้านสติปัญญาของมนุษย์ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทั้งในกลุ่มเด็กปกติ เด็กที่มีความบกพร่อง และเด็กที่มีความสามารถพิเศษ
ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรทราบและเข้าใจลักษณะของเด็ก ยอมรับความแตกต่างของเด็กแต่ละคน สามารถประเมินพัฒนา การของเด็กที่เกิดขึ้นในแต่ละวัย และตอบสนองความต้องการของเด็กได้อย่างถูกต้อง พร้อมทั้งสามารถวิเคราะห์ปัญหาพฤติ กรรมของเด็ก และหาแนวทางแก้ไขปัญหานั้นอย่างเหมาะสม

เด็กวัยประถมต้นมีสมรรถนะและพัฒนาการด้านสติปัญญาอย่างไร?

จากวัยอนุบาลมาเป็นเด็กประถมที่รู้จักเหตุและผล มีความคิดเป็นของตนเอง สามารถแก้ไขปัญหา พร้อมเรียนรู้โลกกว้างในกรอบของระเบียบวินัย จึงทำให้สามารถมองเห็นพัฒนาการด้านสติปัญญาที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน ดังนี้
อายุ 6 ขวบ เริ่มต้นวัยประถม เด็กวัยนี้มีความสนใจกิจกรรมและงานของตนเองนานขึ้น มีความกระตือรือร้น สนใจของแปลก ใหม่ แต่หากมีสิ่งที่น่าสนใจกว่า อาจหันไปสนใจของอีกอย่างได้ทันที นอกจากนี้สามารถวาดรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน วาดรูปคน เขียนตัวอักษรง่ายๆได้ รู้ซ้ายขวา นับ 1-30 ได้ สามารถอธิบายความหมายของคำ และบอกความแตกต่างของ 2 สิ่งได้
อายุ 7 ขวบ วัยประถมเต็มตัว เมื่อเด็กมีความสนใจสิ่งใดแล้ว จะพยายามทำให้สำเร็จ มีความอยากรู้อยากเห็น เข้าใจเรื่องเหตุและผลมากขึ้น สามารถจดจำระยะเวลา อดีตและปัจจุบันได้ มีความสนใจที่ยาวนานขึ้น แต่ยังไม่สามารถทำอะไรหลายอย่างได้พร้อมกัน เด็กวัยนี้สามารถวาดรูปคนมีรายละเอียดมากขึ้น เขียนตัวหนังสือได้ครบตามแบบ บอกวันในสัปดาห์ เปรียบ เทียบขนาดใหญ่ เล็ก เท่ากัน แก้ปัญหาได้ บวก ลบ เลขง่ายๆ และบอกเวลาก่อน-หลังได้
อายุ 8 ขวบ วัยแห่งการเรียนรู้ เด็กวัยประถมจะสนใจและจดจ่อกับงานที่ได้รับมอบหมาย และหมกมุ่นจนกว่างานนั้นจะสำเร็จ เข้าใจคำสั่งและตั้งใจทำงานให้ดีกว่าเดิม เด็กวัยนี้วาดรูปสิ่งที่พบเห็นเป็นสัดส่วนและมีรายละเอียด เขียนตัวหนังสือถูกต้อง เป็นระเบียบ บอกเดือนของปีได้ สะกดคำง่ายๆได้ ฟังเรื่องราวแล้วเข้าใจเนื้อหาและขั้นตอนได้ เปรียบเทียบสิ่งที่เหมือนกัน และสามารถเข้าใจปริมาตร
อายุ 9 ขวบ ซึมซับความรู้ วิธีการพูดของเด็กจะเปลี่ยนแปลงไป มีการใช้ภาษาที่ซับซ้อนขึ้น รู้จักถาม-ตอบอย่างมีเหตุผล เต็มไปด้วยความรู้รอบตัว สามารถหาคำตอบเองได้จากการสังเกต เด็กจะต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้น มีของสะสม และเลียนแบบการกระทำของคนที่โตกว่า เด็กวัยนี้สามารถวาดรูปทรงกระบอกมีความลึกได้ บอกเดือนถอยหลังได้ เขียนเป็นประโยค เริ่มอ่านในใจ เริ่มคิดเลขในใจ บวกลบหลายชั้น และคูณชั้นเดียว
เด็กวัยประถม เป็นช่วงที่เด็กไปโรงเรียนตั้งแต่เช้าถึงบ่ายหรือเย็นแล้วจึงกลับเข้าบ้าน จึงเกิดการเรียนรู้ทั้งที่บ้านและที่โรง เรียน เด็กวัยนี้มีความสามารถที่จะมองเหตุการณ์ในภาพรวม และมองรายละเอียด รวมทั้งเลือกที่จะสนใจจุดย่อยๆได้ เด็กจะมีความคิดเรื่องความคงที่ของวัตถุ ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนภาชนะไป มีความคิดเป็นเหตุเป็นผล สามารถคิดแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ สามารถเข้าใจความสัมพันธ์ของตนเองต่อโลกกว้าง รู้จักแยกสิ่งของออกเป็นกลุ่ม เป็นหมวดหมู่ คิดกลับไปกลับมา และคิดในใจได้ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์และมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตในวัยนี้ คิดและมองโลกในมุมมองของผู้อื่นได้มากขึ้น ทำให้การปรับตัวเข้ากับคนอื่นทำได้ดีขึ้น

พ่อแม่ ผู้ปกครองจะจัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาให้ลูกวัยประถมต้นได้อย่างไร?

การพัฒนาสติปัญญาจะต้องพัฒนาให้ครบทุกด้าน นั่นคือ การพัฒนาให้ลูกมีทักษะกระบวนการคิด กระบวนการเรียนรู้ มีความฉลาด ใฝ่หาความรู้อย่างต่อเนื่อง รู้จักตนเอง และมีความมั่นคงทางอารมณ์ มีทักษะการแก้ปัญหา และสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น การดูแลลูกในวัยประถม จึงเป็นช่วงสำคัญอีกช่วงหนึ่ง เพราะเป็นวัยที่ลูกต้องเรียนรู้และปรับตัวในด้านต่างๆ ทั้งด้านการเรียน การเข้ากับเพื่อน เข้ากับครู และปรับตัวให้เข้ากับระบบโรงเรียน ซึ่งลูกต้องช่วยตัวเองมากขึ้นและมีความพร้อมที่จะพัฒนาตนเองต่อไปได้ตามลำดับ โดยพ่อแม่จะช่วยเหลือลูกได้ ดังนี้
  • ดูแลเรื่องเรียน การเรียนในชั้นประถมแตกต่างจากอนุบาล คือ มีการเรียนเป็นชั่วโมง ลูกต้องนั่งเรียนเป็นเวลานาน และเริ่มมีการบ้าน พ่อแม่จึงควรดูแลเอาใจใส่ช่วยเหลือลูก เช่น ช่วยตรวจการบ้านว่าทำถูกต้องหรือไม่ ช่วยลูกทบทวนบท เรียน ช่วยให้ลูกสนุกกับการเรียน สนุกกับการทำงาน ช่วยค้นหาข้อมูล ช่วยคิดว่าจะทำงานอย่างไรให้สวยงาม เรียบร้อย
  • ช่วยเหลือเรื่องปรับตัว ให้คำแนะนำต่างๆ การไปโรงเรียนเป็นการเรียนรู้ในทุกด้านของชีวิต พ่อแม่ควรให้คำแนะ นำในการคิดแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน เช่น ลูกไม่เข้าใจบทเรียน ไม่กล้าถามครู ลูกจดงานไม่ทัน ไม่รู้จักขอดูจากเพื่อน ถูกเพื่อนล้อเลียน ไม่รู้จะโต้ตอบอย่างไร หรือถูกรังแก โดนข่มขู่ ฯลฯ
  • หาเวลาว่างพูดคุยกัน พ่อแม่ควรหาเวลาพูดคุยกับลูก แสดงท่าทียอมรับ เปิดใจฟังเรื่องของลูกเกี่ยวกับเรื่องทั่วไป แบบสบายๆ ให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย พร้อมจะเปิดใจพูดคุยกับพ่อแม่ ด้วยการใช้ภาษาแบบเด็ก ฟังโดยไม่ขัดแย้ง ให้เกียรติ หลีกเลี่ยงการใช้คำสั่ง

ประเมินพัฒนาการด้านสติปัญญาของลูกวัยประถมต้นได้อย่างไร?

การประเมินพัฒนาการด้านสติปัญญาของเด็กวัยนี้ จะประเมินความสามารถในการเรียนรู้ การแก้ปัญหา การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก และการใช้ภาษา ทั้งความเข้าใจภาษา และการสื่อความหมายต่างๆ ดังนี้
  • ลูกได้รับสารอาหารบำรุงสมองครบถ้วน เพียงพอ ได้แก่ ตับ ไข่ ปลา ไก่ หมู นม และอาหารทะเล ผักและผลไม้ วิตามินและเกลือแร่ ฯลฯ
  • ลูกสามารถใช้ภาษาสื่อสารในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รู้จักขอร้อง ไกล่เกลี่ย ต่อรอง ขอบคุณ ขอโทษ และลูกมักได้รับคำชื่นชม คำแนะนำ กำลังใจจากพ่อแม่เสมอ
  • ลูกสามารถคิดเป็นระบบ คิดแก้ปัญหาได้เหมาะกับวัย พ่อแม่ให้โอกาสลูกได้ฝึกคิด ฝึกเลือก และหัดตัดสินใจ ทำให้ลูกเข้าใจว่า ความผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ เมื่อเผชิญปัญหา ลูกมีโอกาสได้ฝึกคิดและแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง
  • ลูกมีจินตนาการ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สังเกตได้จากงานเขียนหรือการเล่นของลูก ลูกมีโอกาสได้เล่นบทบาทสมมติ ได้แสดงออก รู้จักเคลื่อนไหวร่างกาย และจินตนาการเป็นสิ่งต่างๆ
  • ลูกมีโอกาสเล่น ออกกำลังกาย ได้เล่นเกมที่ไม่ต้องแข่งกัน ได้เล่นเกมง่ายๆเป็นกลุ่ม เช่น เล่นโดมิโน ต่อจิ๊กซอว์ ลูกสามารถเข้าใจกฎเกณฑ์และเรียนรู้ที่จะสร้างกฎเกณฑ์ด้วยตัวเอง
  • ลูกมีความสนใจ ใฝ่รู้ มีความรู้ความสามารถ มีผลการเรียนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งมาจากความสามารถ ความรับผิด ชอบ และความอดทนของตัวเอง มีทัศนคติที่ดีต่อการสอบว่า อาจทำผิดพลาดและสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ ด้วยการพยายามให้มากขึ้นในครั้งต่อไป
  • ลูกสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตได้อย่างเหมาะสม มีโอกาสฝึกคิด จัดกลุ่ม จับคู่ นับจำนวนต่างๆ ในสถาน การณ์จริง ให้มีส่วนร่วมในการทำงานต่างๆในบ้าน เช่น จัดโต๊ะอาหาร ทำกับข้าว รดน้ำต้นไม้ กวาดใบไม้ เป็นต้น

เกร็ดความรู้เพื่อครู

องค์ประกอบด้านสติปัญญา ประกอบด้วยความพร้อมทางการเรียน ทั้งด้านภาษาและคณิตศาสตร์ โดยมีความเข้าใจภาษาและมีความคิดรวบยอดทางคณิตศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีความพร้อมทางการรับรู้และความสามารถในการแก้ปัญหา ครูจึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการต่อจากพ่อแม่ ครูจึงควรสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็กและครอบครัว รับฟังปัญหาเด็ก ไม่ด่วนสรุปเร็วเกินไป และมีท่าทีเป็นกลาง หาข้อมูลเพื่อให้รู้สาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหา มองเด็กในแง่ดี ชี้ แนะในกรณีที่เด็กคิดไม่ออกด้วยตัวเอง จัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม เป็นแบบอย่างที่ดี ให้เด็กรักกัน ยอมรับและช่วยเหลือกัน มีการชมเชยเมื่อเด็กทำได้ดี มีวิธีตักเตือน ชักจูงให้อยากเปลี่ยนแปลงแก้ไขตนเองให้ดีขึ้น
ครูควรจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่สามารถส่งเสริมพัฒนาการทางสติปัญญา และพัฒนาทักษะการคิดแก้ปัญหา ซึ่งประ กอบด้วยการแปลโจทย์ปัญหา การทำงานร่วมกัน การวางแผน การระดมสมอง การแลกเปลี่ยนข้อมูล การประสานงาน การแบ่งงาน เป็นต้น ด้วยการจัดการเรียนรู้แบบที่เด็กมีส่วนร่วม เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้วิถีการทำงานของเพื่อน เกิดการช่วย เหลือซึ่งกันและกัน และช่วยผลักดันให้เกิดผลงานที่ดี พัฒนาให้เด็กกระตือรือร้นในการเรียนรู้มากกว่าแค่การนั่งฟังครูสอน ครูจึงควรออกแบบและจัดหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาศักยภาพทางสมอง ทั้งสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวาของเด็ก ด้วยการจัดกิจกรรมที่สมดุลระหว่างการนั่งเรียนในชั้นเรียนกับกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกาย มีการฝึกภาษาเพื่อใช้ในการสื่อสาร ทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียน มีการแสดงออกทั้งด้านกีฬา ดนตรี และศิลปะ ฝึกให้เด็กเป็นคนช่างสังเกต การเปรียบเทียบ จำแนกแยกแยะสิ่งต่างๆ จัดหมวดหมู่สิ่งของที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน เรียนรู้ขนาด ปริมาณ การเพิ่มขึ้นลดลง การใช้ตัวเลข ได้สัมผัสวัตถุที่เป็นของจริง เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ฝึกที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น ให้มีทั้งการทำงานเดี่ยวและทำงานกลุ่ม ที่สำคัญ ฝึกให้รู้จักตนเอง วิเคราะห์ข้อเด่น ข้อด้อยของตัวเอง เข้าใจตนเอง เพื่อที่จะดูแลกำกับพฤติกรรมตนเองได้อย่างเหมาะสม
ในขณะเดียวกันโรงเรียนก็ควรมีระบบให้ความช่วยเหลือนักเรียน มีระบบคัดกรองนักเรียนที่มีปัญหาด้านต่างๆ เช่น ปัญหาการเรียน ปัญหาพฤติกรรมหรืออารมณ์ และมีทีมนักจิตวิทยาช่วยประเมินผล หาสาเหตุ ส่งต่อ ติดตามผลการให้ความช่วย เหลือ จึงจะช่วยทำให้โรงเรียนสามารถพัฒนาเด็กได้เพิ่มขึ้น เพราะการไปโรงเรียนไม่ใช่ไปเรียนหนังสืออย่างเดียว แต่เด็กควรจะได้รับการปลูกฝัง ฝึกหัด และเรียนรู้ เพื่อที่จะก้าวต่อไปได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและดีงาม

บรรณานุกรม

  1. พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต). (2549). สุขภาวะองค์รวมแนวพุทธ. กรุงเทพฯ : ธรรมสภา.
  2. ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นฯ. คู่มือเลี้ยงลูก วัย 6-12 ปี. แหล่งที่มา http://www.rcpsycht.org/cap/book03. php (1 มกราคม 2556)
  3. นายแพทย์ สุรพงศ์ อำพันวงษ์ คอลัมน์ ชีวิตและสุขภาพ (หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 26 มีนาคม 2543) แหล่งที่มา http://www.teerawatschool.com 1 มกราคม 2556)
  4. พัฒนาการของเด็กวัยประถมศึกษา แหล่งที่มา http://www.childanddevelopment.com (1 มกราคม 2556)
  5. http://taamkru.com/th/%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%96%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%99/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ลักษณะของเด็กวัยประถมศึกษา

ลักษณะของเด็กวัยประถมศึกษา  (อายุ  6  –  12 ปี) พัฒนาการทางร่างกาย                                1.      การเจริญเติบโตของร่างกายของ...