วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

พัฒนาการด้านร่างกายเด็กประถม

บทนำ

พัฒนาการด้านร่างกายของเด็กวัยประถมต้น (อายุ 6-9 ขวบ) มีการเปลี่ยนแปลงและมีความสามารถเพิ่ม ขึ้นในหลายด้าน เด็กวัยนี้สามารถใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ได้ดี ชอบเคลื่อนไหวมากกว่าอยู่เฉย มีการทรงตัวดี คล่อง แคล่ว แม่นยำ และมีกำลังมากขึ้น จึงสามารถกระโดดไกล วิ่ง ว่ายน้ำ ขี่จักรยานสองล้อ เตะฟุตบอล ส่วนกล้าม เนื้อมัดเล็กสามารถใช้การได้ดีขึ้น ระบบประสาทและการเคลื่อนไหวทำงานสอดคล้องกันได้เป็นอย่างดี เด็กวัยประถมต้นจึงใช้มือและนิ้วควบคุมการเคลื่อนไหวของดินสอได้ สามารถวาดรูปเรขาคณิตได้ วาดรูปคนที่มีอวัยวะครบ เขียนตัวอักษร ปั้น และประดิษฐ์สิ่งของได้อย่างประณีตมากขึ้นตามอายุและประสบการณ์เรียนรู้

พัฒนาการด้านร่างกายสำคัญอย่างไร?

เด็กวัยนี้สามารถใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ได้ดี และชอบเคลื่อนไหวโดยธรรมชาติ เพื่อเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงและการทำงานประสานกันของอวัยวะสัมพันธ์กัน อันจะมีผลต่อสุขภาพโดยรวมของเด็กในอนาคต แต่การที่จะส่งเสริมให้ร่างกายของเด็กวัยนี้ทำงานคล่องแคล่ว ประสานกัน ต้องอาศัยการฝึกฝนผ่านการทำกิจกรรม ทั้งการทำงานบ้าน การเล่นกีฬา การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะพัฒนาให้เด็กมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง กระฉับ กระเฉง แคล่วคล่องว่องไว มีสมาธิดี ประสาทต่างๆทำงานได้คล่อง ในทางกลับกัน หากเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มุ่งเน้นความสะดวกสบาย เล่นแต่เกม ดูทีวีตลอดทั้งวัน นอนในห้องปรับอากาศ ก็จะหล่อหลอมให้เด็กติดความสบาย และความสนุกเหล่านี้อาจขัดขวางการพัฒนาด้านกล้ามเนื้อใหญ่ตามที่กล่าวมา นอกจากนี้ ช่วงเวลาสำคัญที่สุดของการเรียนรู้ของมนุษย์ คือ ช่วงวัยเด็ก เพราะสามารถพัฒนาสมองได้ถึง 80% ของผู้ใหญ่ ข้อมูลต่างๆที่ผ่านเข้ามาจะไปกระตุ้นสมองของเด็ก ทำให้เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายเส้นใยสมองและเกิดจุดเชื่อมต่อมากมาย ส่งผลให้เด็กเข้าใจและเกิดการเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ สมองของเด็กพัฒนาจากการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก ทักษะความคล่องตัวของกล้ามเนื้อมัดเล็กจะพัฒนาภายในช่วง เวลา 10 ปีแรก ดังนั้น ถ้าหากเด็กได้ฝึกฝนการใช้มือ การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กของมือ จะทำให้สมองสร้างเครือข่ายเส้นใยสมอง จุดเชื่อมต่อ และสร้างไขมันล้อมรอบเส้นใยสมองและเซลล์สมองที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำ งานของกล้ามเนื้อมัดเล็กได้มาก ทำให้เกิดทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก ดังนั้น พ่อแม่และครูควรดูแลให้คำแนะนำ และสังเกตติดตามพัฒนาการของเด็กอย่างใกล้ชิด จะช่วยส่งเสริมให้เด็กเป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุขได้อย่างเหมาะสม หากพบสิ่งผิดปกติหรือพัฒนา การของเด็กไม่ก้าวหน้าตามที่ควรจะเป็น จะได้พิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาแต่เนิ่นๆ

เด็กวัยประถมต้น มีสมรรถนะและพัฒนาการด้านร่างกายอย่างไร?

สมรรถนะและพัฒนาการด้านร่างกายของเด็กวัยประถมต้น มีดังนี้
อายุพัฒนาการของการใช้กล้ามเนื้อใหญ่พัฒนาการของการใช้กล้ามเนื้อเล็ก
6 ปี
  • เดินบนส้นเท้าได้
  • เดินต่อเท้าถอยหลังได้
  • ใช้สองมือรับลูกบอลที่โยนมาได้
  • กระโดดไกลประมาณ 120 ซม.
  • วาดรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนได้
  • วาดรูปคนมีอย่างน้อย 6 ส่วน
  • เขียนตัวอักษรง่ายๆได้
7 ปี
  • กระโดดขาเดียวได้หลายครั้งต่อกัน
  • เดินถือของหลายชิ้นได้
  • เริ่มขี่จักรยาน 2 ล้อ
  • วาดรูปคนมีรายละเอียดมากขึ้น
  • เขียนตัวหนังสือได้ครบตามแบบ
8 ปี
  • ทรงตัวได้ดี
  • ขี่รถจักรยาน 2 ล้อได้ดี
  • วาดรูปสิ่งที่พบเห็นเป็นสัดส่วนและมีรายละเอียด
  • เขียนตัวหนังสือถูกต้องและเป็นระเบียบ
9 ปี
  • ยืนขาเดียวปิดตา 15 วินาที ทรงตัวได้ดี
  • วาดรูปทรงกระบอกมีความลึกได้
  • รูปร่าง เด็กวัยประถมต้นโดยทั่วไปจะมีรูปร่างสูงและค่อนข้างจะผอมกว่าวัยอนุบาล เด็กชายและเด็ก หญิงจะมีน้ำหนักและส่วนสูงขนาดเท่าๆกัน มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 3-3.5 กิโลกรัมต่อปี และมีความสูงเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 6 เซนติเมตร
  • ฟัน ฟันแท้ซี่แรกเริ่มขึ้นเมื่ออายุ 6 ปี ได้แก่ ฟันหน้าซี่กลางและฟันกรามซี่ที่ 1 บนและล่าง ฟันแท้ส่วนใหญ่จะขึ้นแทนที่ฟันน้ำนมและทยอยขึ้นไปจนถึงอายุ 17-21 ปี ฟันแท้มีทั้งหมด 32 ซี่ เป็นฟันบนและฟันล่างอย่างละ 16 ซี่ ฟันกรามแท้จะเริ่มขึ้นตั้งแต่อายุ 6 ปี ถึง 12 ปี เนื่องจากฟันกรามใช้บดเคี้ยวอาหาร จะมีลักษณะเป็นหลุมร่องมากมาย ทำความสะอาดยาก จึงควรได้รับการเคลือบหลุมร่องฟันเพื่อป้องกันฟันผุ
  • กล้ามเนื้อใหญ่ เด็กวัยประถมต้น จะมีกำลังและทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อซับซ้อนมากขึ้น การใช้และบังคับกล้ามเนื้อต่างๆจะดีขึ้นมาก เด็กจึงชอบการเคลื่อนไหวมากกว่าที่จะอยู่เฉย จึงควรส่งเสริมให้เด็กวัยนี้ได้เล่นกีฬา ได้ออกกำลังกาย ได้เคลื่อนไหว เพราะเด็กสามารถเรียนรู้และพัฒนาความสามารถต่างๆผ่านการเล่น ไม่ว่าจะเป็น ไล่จับ ซ่อนหา หรือเล่นกีฬาต่างๆทั้งว่ายน้ำ เตะฟุตบอล กระโดดเชือก ขี่จักรยาน เป็นต้น การเคลื่อน ไหวจะทำให้สุขภาพแข็งแรง มีการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์ เด็กบางคนที่มีนิสัยนั่งเฉยๆ หรือไม่ค่อยออกกำลังกายจึงมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนมากขึ้น
  • กล้ามเนื้อมัดเล็ก เด็กสามารถใช้มือและนิ้วจับดินสอได้ดีมากขึ้น สามารถเขียนหรือวาดรูปต่างๆที่ซับซ้อนขึ้น สามารถทำงานที่ประณีตอย่างงานปั้น งานแกะสลักได้ นอกจากนี้การประสานงานของระบบประสาทและการเคลื่อนไหวก็จะทำงานสอดคล้องกันได้เป็นอย่างดี เด็กจึงมีกิจกรรมต่างๆอยู่ตลอดเวลาและมักจะประกอบกิจกรรมนั้นๆอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

พ่อแม่ ผู้ปกครองจะจัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการให้ลูกได้อย่างไร?

พ่อแม่ผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกายของลูก ดังนี้
  • เสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกาย ให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ด้วยการให้ลูกรับประทานอาหารที่หลากหลายและครบ 5 หมู่ ได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ สารอาหารที่บำรุงสมอง เพื่อให้เซลล์สมองเติบโตเต็มที่ มีการสร้างเส้นใยประสาทที่ต่อเนื่อง ช่วยส่งเสริมด้านความจำและสมาธิ จะทำให้ลูกเรียนรู้ได้ง่ายและเรียนรู้ได้รวดเร็วขึ้น หัดให้ลูกกินเป็น บริโภคเป็น คือ รู้จักกินใช้ด้วยปัญญา ไม่บริโภคด้วยความรู้สึกเท่านั้น แต่มองเห็นความหมายและประโยชน์ในการกิน-ใช้-บริโภค นอกจากนี้ลูกยังจำเป็นต้องได้รับการตรวจสุขภาพเป็นระยะและฉีดวัคซีนตามกำหนด
  • พัฒนาศักยภาพทางสมอง ด้วยการส่งเสริมโอกาสให้ลูกได้ใช้ความคิดอยู่เสมอ หัดให้คิด ให้ลูกมีโอกาสคิดหลากหลายแบบ เช่น คิดแสวงหาความรู้ คิดริเริ่มสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ คิดกว้าง คิดไกล คิดเชิงอนาคต คิดนอกกรอบ และจัดกิจกรรมให้ลูกได้ฝึกการคิดอย่างเหมาะสมกับวัย และมีความสุขใน ขณะที่ฝึกคิด สมองจึงจะพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ
  • นอนหลับเพียงพอ ส่งผลให้ลูกเรียนเก่ง การนอนหลับมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตและสุขภาพ การนอนหลับทำให้ร่างกายได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ร่างกายและสมองมีการเจริญเติบโต เด็กจึงสูงขึ้น มีการสร้างภูมิคุ้ม กันโรค ลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย สมองช่วยจัดเก็บความจำ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้และการทำ งาน เพิ่มทักษะในการเคลื่อนไหว เช่น เล่นกีฬา เล่นดนตรี เด็กวัยนี้หากนอนหลับเป็นเวลา 9-11 ชั่วโมงอย่างสม่ำ เสมอ จะส่งผลให้เรียนหนังสือดี มีอารมณ์แจ่มใส ไม่หงุดหงิดง่าย มีโอกาสน้อยที่จะกลายเป็นเด็กอ้วน และจะทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น
  • จัดแบ่งเวลาสำหรับทำกิจกรรมที่หลากหลาย ลูกได้เล่น ได้ออกกำลังกาย มีการพักผ่อนหย่อนใจที่สมดุลกับการทำงานและการศึกษา ทำการบ้านหรือทบทวนบทเรียน กำหนดเวลาเข้านอน-ตื่นนอน รู้จักใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม จะส่งผลให้จิตใจสดชื่น ร่าเริง เบิกบาน ไม่เครียด พ่อแม่ควรพูดคุยกับลูกเรื่องการใช้เวลาให้เป็นประโยชน์และทำตารางการใช้เวลาในแต่ละวันให้เหมาะสม

ประเมินพัฒนาการด้านร่างกายของลูกได้อย่างไร?

พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถประเมินพัฒนาการด้านร่างกายของลูกได้โดยสังเกตสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้
  • ลูกมีการเจริญเติบโต มีน้ำหนักและส่วนสูงอยู่ในเกณฑ์ปกติ พ่อแม่สนใจติดตามการเติบโตของลูก และทางโรงเรียนมีการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง พร้อมทั้งบันทึกลงในสมุดประจำตัวนักเรียนเป็นระยะ ได้รับการตรวจสุขภาพและวัคซีนตามที่กำหนด
  • ลูกมีพัฒนาการด้านร่างกายเหมาะสมกับวัย มีความสามารถด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย การใช้สายตาและมือประสานกันทำสิ่งต่างๆ พ่อแม่ได้อบรมเลี้ยงดูและจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ลูกมีโอกาสได้เรียนรู้ เล่น และทำสิ่งต่างๆ ตลอดจนได้แสดงออกตามความสามารถ พร้อมที่จะพัฒนาขั้นต่อๆไป
  • ลูกมีภาวะโภชนาการที่ดี รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ได้รับสารอาหารครบถ้วน และนอนหลับพักผ่อนเพียงพอ ขับถ่ายดี มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สดชื่น กระปรี้กระเปร่า มีความสุขในการดำรงชีวิต
  • ลูกมีวงจรชีวิตที่สร้างความสุข ได้เล่น ได้ออกกำลังกาย มีกิจกรรมนันทนาการที่ลูกชอบและเป็นผู้เลือกที่จะทำเอง ลูกผ่อนคลายจากความเครียด ความวิตกกังวล จิตใจแจ่มใส มองเห็นศักยภาพของตนเอง และมีความเชื่อมั่นในตัวเอง

เกร็ดความรู้เพื่อครู

เด็กวัยประถมต้นใช้เวลาเต็มวันอยู่ที่โรงเรียน เด็กจะได้เรียนรู้ในทุกด้าน เด็กวัยนี้จะได้รับการประคับ ประคองน้อยลงจากวัยอนุบาล เด็กจะมีการพัฒนาตนเอง เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นคง ถ้าพัฒนาการในวัยนี้หยุดชะงักหรือมีปัญหา ก็จะส่งผลต่อวัยรุ่น และกลายเป็นปัญหาสะสมเรื้อรังต่อไปในอนาคต ครูจึงมีบทบาทต่อพัฒนาการของเด็กวัยนี้อย่างมาก จึงควรจัดกิจกรรมให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการเล่น อย่างมีความสุข มีสภาพแวด ล้อมที่เหมาะสม พร้อมทั้งดูแลด้านสุขนิสัยและโภชนาการเหมาะสมต่อพัฒนาการด้านร่างกาย มีกิจกรรมการเคลื่อนไหว ได้ยืน เดิน วิ่ง จับ ขว้าง กระโดด เคลื่อนไหวในทิศทางต่างๆ ได้ออกกำลังกายกลาง แจ้ง เล่นกีฬา หรือเกมการละเล่นต่างๆ

บรรณานุกรม

  1. ชยสาโรภิกขุ. (2546). พ่อแม่ ผู้แสดงโลก. กรุงเทพฯ : โรงเรียนทอสี.
  2. ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย. คู่มือเลี้ยงลูก วัย 6-12 ปี. แหล่งที่มา http://plearnstage2. blogspot.com/p/6-12. html (๙ ธันวาคม ๒๕๕๕)
  3. http://taamkru.com/th/%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%96%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%99/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ลักษณะของเด็กวัยประถมศึกษา

ลักษณะของเด็กวัยประถมศึกษา  (อายุ  6  –  12 ปี) พัฒนาการทางร่างกาย                                1.      การเจริญเติบโตของร่างกายของ...